ประวัติภาควิชา
ภาควิชาชีววิทยาประมง เป็น 1 ใน 5 ภาควิชาที่สอนของคณะประมงที่ได้จัดตั้งขึ้นมาพร้อม ๆ กับการก่อตั้งคณะประมงและ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 ทั้งนี้เพื่อเป็นการสอดคล้อง กับวิสัยทัศน์ของคณะประมง ที่ว่า"คณะประมงเป็นสถาบันแห่งความเป็นเลิศ ทางวิชาการในสาขาประมง แหล่งน้ำ และทรัพยากรมีชีวิตในแหล่งน้ำ" ภาควิชาจึงได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นิสิตมีความรู้ความเข้าใจทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางน้ำบทบาทและความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการและการแก้ไขปัญหาด้านการประมง
ปณิธาน วัตถุประสงค์ และวิสัยทัศน์
ภาควิชาชีววิทยาประมงมีการตั้งปณิธาน วัตถุประสงค์ และวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการผลิตบัณฑิตในสาขาประมงที่มีความรู้ความเข้าใจในทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางน้ำตลอดจนบทบาทและความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการและการแก้ไขปัญหาทางด้านการประมงและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืน
โครงสร้างของภาควิชา
ภาควิชาชีววิทยาประมงมีการเรียนการสอนซึ่งได้มีการจัดแบ่งหมวดสาขาวิชาการออกเป็น 5 หมวดวิชา ได้แก่
1. หมวดวิชาทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพทางน้ำ (Aquatic Bioresources and Biotechnology)
จัดการเรียนการสอนทางด้านอนุกรมวิธาน ชีววิทยา และนิเวศวิทยาของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางน้ำ ทั้งพืชและสัตว์ในระบบนิเวศน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล
2. หมวดวิชานิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ (Aquatic Ecology and Environment)
จัดการเรียนการสอนทางด้านนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ ชลธีวิทยา พื้นที่ชุ่มน้ำ สิ่งมีชีวิตที่เป็นดัชนีบ่งชี้ลักษณะและคุณภาพของแหล่งน้ำ สภาวะแวดล้อม การประเมินกำลังผลิตเบื้องต้นของแหล่งน้ำ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
3. หมวดวิชาสรีรวิทยาสัตว์น้ำและพิษวิทยา (Aquatic Animal Physiology and Toxicology)
จัดการเรียนการสอนทางด้านสรีรวิทยาของสัตว์น้ำ การเปลี่ยนแปลงทางสรีระที่เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมและสารพิษ รวมทั้งการศึกษาพิษวิทยาของสารพิษชนิดต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ปัญหามลพิษของแหล่งน้ำ และการแก้ไขปัญหามลพิษ
4. หมวดวิชาสุขภาพสัตว์น้ำ (Aquatic Animal Health)
จัดการเรียนการสอนทางด้านโรคและปรสิตของสัตว์น้ำ การศึกษาพยาธิสภาพของสัตว์น้ำที่ติดโรค การป้องกันการระบาดของโรคและปรสิต ในสัตว์น้ำ
5. หมวดวิชาพลวัติการประมง (Fishery Dynamics)
จัดการเรียนการสอนทางด้านชีววิทยาประมงของทรัพยากรประมง การเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางน้ำ การสร้างตัวแบบทาง ชีวคณิตศาสตร์และชีวสถิติ เสริมงานด้านระเบียบวิธีวิจัย และเทคนิคการวิจัยทาง ชีววิทยาประมง และพลวัติการประมง
หลักสูตรการศึกษา
ภาควิชาชีววิทยาประมงมีระดับการเรียนการสอน 3 ระดับ คือ ในระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก
นอกเหนือจากการเรียนการสอนในห้องเรียน ภาควิชาได้จัดการฝึกงานในสนามแก่นิสิตระดับปริญญาตรี 2 ครั้ง คือ การฝึกงานด้านทะเล และน้ำจืด เป็นระยะเวลาครั้งละ 1 เดือน เพื่อให้นิสิตเพิ่มพูนความรู้ทักษะและประสบการณ์ ตลอดจนการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะในต่างจังหวัดก่อนนิสิตจะจบการศึกษา
ศูนย์วิจัยภายใต้ภาควิชาชีววิทยาประมง
ศูนย์วิจัยทรัพยากรชีวภาพสาหร่าย (Algal Bioresources Research Center)
ศูนย์วิจัยธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Business Research Center)
หน่วยงานที่ทำหลังจากสำเร็จการศึกษา
หน่วยงานราชการ (นักวิชาการประมง นักวิจัย อาจารย์)
- กรมประมง
- กรมควบคุมมลพิษ
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- สถาบันอุดมศึกษา
- สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล
- สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หน่วยงานเอกชน (นักวิชาการ พนักงานส่งเสริมการขาย)
- บริษัทที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจสัตว์น้ำ เช่น บริษัท ซีพีเอฟ
- บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม
- สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น Mekong Under water World, Siam Ocean World
Categorías CINE (ISCED)